ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
ศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
ตัวเบียน (Parasitoids)
แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีวิวัฒนาการจนถึงขั้นที่เรียกว่าการเบียนตัวเอง(adelphoparasitism หรือ autoparasitism) กล่าวคือแมลงเบียนชนิดเดียวกันสามารถเบียนแมลงเบียนที่อยู่ในชนิดเดียวกันได้ และโดยทั่วไปแมลงตัวเบียนทุกชนิดจะพฤติกรรมการกินแมลงในระยะตัวอ่อนเท่านั้น และใช้ตัวอาศัย (host) เพียงหนึ่งตัวในการเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิต และทำให้ตัวอาศัยตัวนั้นตายในที่สุด
ส่วนตัวเต็มวัยของตัวเบียนจะมีชีวิตเป็นอิสระ หาอาหารเป็นน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ สิ่งขับถ่ายจากเพลี้ย หรือของเหลวจากตัวอาศัยที่มันทำลาย โดยทั่วไปตัวเบียนจะอาศัยกินอยู่ตัวเหยื่อภายนอกหรือภายใน และอาศัย กินอยู่ในลักษณะนี้เป็นเวลานานตลอดวงจรชีวิต หรืออย่างน้อยก็ระยะหนึ่งของวงจรชีวิต ทั้งนี้ตัวเบียนมีขนาดเล็กกว่าตัวอาศัยมาก ส่วนใหญ่ตัวอาศัยหนึ่งตัวจะมีตัวเบียนอาศัยอยู่จำนวนมาก และตัวเบียนจะค่อย ๆ ดูดกินอาหารจากเหยื่ออย่างช้า ๆ และทำให้เหยื่อตาย แมลงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตัวเบียนของแมลงอีกชนิดหนึ่ง เราเรียกเป็นแมลงตัวเบียน (parasites หรือ parasitoids)