ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
มวนพิฆาต
Stink bug
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eocanthecona furcellata
อันดับ (Order)
Hemiptera
วงศ์ (Family)
Pentatomidae
ความสำคัญ
มวนพิฆาต เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติ มีประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ หนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนคืบกะหล่ำ หนอนคืบละหุ่ง หนอนแก้วส้ม หนอนร่าน ฯลฯ มวนพิฆาต มีพฤติกรรมเป็นตัวห้ำตั้งแต่ตัวอ่อนวัย 2 จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย มวนพิฆาต ทำลายหนอนทุกขนาด ตลอดชีวิตมวนพิฆาต 1 ตัว ทำลายหนอน ศัตรูพืชได้ 214 -258 ตัวเฉลี่ย 6 ตัวต่อวัน ตัวอ่อนวัย 2-5 ทำลายหนอน ได้ 80 ตัว
ลักษณะรูปร่าง
ไข่: ลักษณะกลม เป็นกลุ่ม ประมาณ 20-100 ฟองต่อกลุ่ม สีน้ำตาลเป็นมันสะท้อนแสงและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดง หรือส้มเมื่อใกล้ฟัก
ตัวอ่อน: มี 5 ระยะ วัย 1 อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกาะนิ่งอยู่กับที่ ดูดกินน้ำเป็นอาหาร หลังจากลอกคราบ เคลื่อนไหวน้อยมาก เมื่อเจริญเป็นวัย 2 เริ่มออกหาเหยื่อ ลำตัวสีแดงเข้ม หัวและขาสีดำ ไม่มีปีก มวนแต่ละระยะมีความ แตกต่างกันที่ขนาดของลำตัว สีสัน รวมทั้งนิสัย
ตัวเต็มวัย: ลำตัวสีน้ำตาลแก่ ขนาดวัดจากหัวถึงปลายปีก 1.3−1.6 เซนติเมตร ด้านหลังเป็นรูปสามเหลี่ยม ลักษณะเด่นของมวนพิฆาต ที่บริเวณบ่า ทั้งสองข้าง มีหนามยาวและแหลมข้างละอัน เพศเมียสามารถวางไข่ได้ 340 ฟอง
ลักษณะการทำลายแมลงศัตรูพืช
มวนพิฆาตมีปากแบบแทงดูด ลักษณะคล้ายเข็ม ปกติจะพับเก็บไว้ใต้อกเมื่อพบหนอน จะใช้ปาก แทงเข้าไปในลำตัวหนอนศัตรูพืช แล้วปล่อยสารพิษทำให้หนอนเป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากนั้น จึงดูดกินของเหลวจากตัวหนอนจนหนอนแห้งตาย แล้วมวนพิฆาตจะไปหาหนอนตัวใหม่
การนำไปใช้
เมื่อสำรวจพบหนอนศัตรูพืช ปล่อยมวนพิฆาต ตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัย อัตรา 100 ตัวต่อไร่ ในพืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก และในไม้ผล ปล่อย 100 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมปริมาณหนอนให้อยู่ในระดับต่ำ หากพบหนอนปริมาณมาก ปล่อยมวนพิฆาต 2,000 ตัวต่อไร่ โดยปล่อยเป็นจุดๆ ให้กระจายทั่วแปลง และปล่อยซ้ำจนกว่ามวนพิฆาตจะตั้งรกรากได้ ควรงดพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลง จากการปล่อยมวนพิฆาตตัวอ่อนวัย 3-4 ในแปลงหน่อไม้ฝรั่งและถั่วฝักยาว 3,200 ตัวต่อไร่ ต่อครั้งต่อการระบาด 1 ครั้ง และปล่อยในไร่องุ่น 2,400 ตัวต่อไร่ สามารถควบคุมและลดการระบาดของ หนอนได้ 80-90%