ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
แมลงช้างปีกใส
Green Lacewings
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mallada basalis
Plesiochrysa ramburi
อันดับ (Order)
Neuroptera
วงศ์ (Family)
Chrysopidae
ความสำคัญ
แมลงช้างปีกใส เป็นตัวห้ำเฉพาะตัวอ่อน กินแมลงที่มีผนังตัวอ่อนนุ่ม เช่น ไข่แมลง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไรแดง ตัวอ่อนมักเคลื่อนไหวไปมาบนต้นพืชเพื่อหาเหยื่อ ตัวอ่อน 1 ตัว กินไข่ผีเสื้อได้ 200 ฟอง กินเพลี้ยอ่อนประมาณ 500 ตัว ทำลายหนอนได้มากกว่า 120 ตัว
ลักษณะรูปร่าง
ไข่: ลักษณะรี มีสีเขียวอ่อน ติดบนก้านชูสีขาวใส และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน หรือ สีเทา เมื่อใกล้ฟัก
ตัวอ่อน: ขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายลูกจระเข้ลำตัวยาว ประมาณ 0.8- 1 เซนติเมตร ส่วนหัวมีเขี้ยว ยื่นยาวไปข้างหน้า งุ้มเข้าหากันคล้ายเคียว เพื่อใช้จับแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร
ดักแด้: ตัวอ่อนระยะสุดท้ายจะสร้างเส้นใยสีขาวปกคลุมลำตัว มีลักษณะกลมคล้ายรังไหม สีขาวขุ่น
ตัวเต็มวัย: กินน้ำหวานเป็นอาหาร ลำตัวบอบบาง สีเขียวอ่อนแกมเหลือง หรือเขียวอ่อน หนวดยาว ปีกบางใส 2 คู่ เวลาเกาะจะนิ่งหุบปีกแนบลำตัว
ลักษณะการทำลายแมลงศัตรูพืช
ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสเป็นตัวห้ำที่ค่อนข้างดุร้าย โดยบริเวณส่วนหัวมีเขี้ยว ยื่นยาวไปข้างหน้า และ งุ้มเข้าหากันคล้ายเคียว เพื่อใช้จับศัตรูพืช และดูดกินของเหลวจากแมลงศัตรูพืช จนแห้ง โดยตัวอ่อนแมลง ช้างปีกใส Mallada basalis อำพรางตัว โดยการนำเอาซากแมลง ขึ้นไปเก็บบนหลังของมัน จนมองไม่เห็น ลำตัว เวลาเดินมองคล้ายขยะเคลื่อนที่
การนำไปใช้
การปล่อยแมลงช้างปีกใส สามารถปล่อยได้ทั้งระยะไข่และ ตัวอ่อน ซึ่งการปล่อยในระยะไข่ จะสะดวกในการขนส่ง โดยดำเนินการดังนี้ 1. ก่อนการปล่อยแมลงช้างปีกใส ควรสำรวจแปลงทุกครั้ง เพื่อทราบสถานการณ์การระบาดของแมลง ศัตรูพืช และกำหนดอัตราการปล่อย 2. ปล่อยแมลงช้างปีกใส 1) ระยะตัวอ่อน อัตรา 100 ตัวต่อไร่ เพื่อควบคุมปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับต่ำ หากพบศัตรูพืชปริมาณมาก ปล่อยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส 1,000 ตัวต่อไร่ ควรปล่อยซ้ำจนกว่า แมลงช้างปีกใส จะตั้งรกรากได้ โดยปล่อยเป็นจุดๆ ให้กระจายทั่วทั้งแปลง สำหรับการใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ใช้อัตรา 200 – 500 ตัวต่อไร่ ขึ้นอยู่กับ ความหนาแน่นของปริมาณเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยนำตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสปล่อยบริเวณยอดมันสำปะหลังที่มีการทำลายของเพลี้ยแป้ง 2) ระยะไข่ นำไข่แมลงช้างปีกใสที่ใกล้ฟัก ใส่ในถุง หรือซองกระดาษประมาณ 20 ฟอง ต่อซอง แขวนบนต้นพืช จำนวน 10 จุด งดการพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงในแปลงที่ปล่อยแมลงช้างปีกใส