ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
ด้วงเต่าลาย
Lady Beetles
ชื่อวิทยาศาสตร์
Menochilus sexmaculatus ด้วงเต่าลายหยัก
Coccinella transversalis ด้วงเต่าลายขวาง
Micraspis discolor ด้วงเต่าสีส้ม
อันดับ (Order)
Coleoptera
วงศ์ (Family)
Coccinellidae
ความสำคัญ
ด้วงเต่าลาย เป็นแมลงห้ำที่พบทั่วไป ทั้งในสวนไม้ผล พืชผัก พืชไร่ และนาข้าว ด้วงเต่าลายที่พบ ในประเทศไทยมีประมาณ 150 ชนิด เป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมแมลงศัตรูพืช ทั้งตัวอ่อนและ ตัวเต็มวัย ทำลายแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว ไข่แมลงศัตรูพืช ฯลฯ ตลอดชีวิตกินเหยื่อได้กว่า 1,100 ตัว ซึ่งขึ้นกับชนิดของด้วงเต่าและเหยื่อ เนื่องจาก ลักษณะรูปร่างด้วงเต่าลายคล้ายกับด้วงเต่าศัตรูพืชบางชนิด ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิด คิดว่าด้วงเต่าลายเป็นศัตรูพืช
ลักษณะรูปร่าง
ไข่: มีลักษณะเป็นรูปไข่ (oval shape) เป็นกลุ่ม วางเป็นแถวๆ อย่างเป็นระเบียบ หรือบางครั้ง เป็นฟองเดี่ยวๆ สีเหลืองแก่
ตัวอ่อน: ลักษณะคล้ายลูกจระเข้มี 6 ขา ไม่มีปีก บริเวณด้านหลังและข้างลำตัวมีปุมหนาม (spine) ยื่นออกมา และมักมีจุดหรือแถบสีดำบริเวณผนังด้านหลังลำตัว
ดักแด้: รูปร่างเป็นแบบ exarate มีระยางค์ขา ปีกเจริญเห็นชัดเจน อยู่อิสระจากลำตัว
ตัวเต็มวัย: รูปร่างเป็นรูปไข่ (oval shape) ด้านหลัง ลำตัวโค้งนูน ปีกแข็ง ผิวเป็นมันเรียบ สีสว่างสดใส มีหลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง สีส้ม สีดำ บางชนิดมีลายจุดด้วงเต่าศัตรูพืชบางชนิดคล้ายด้วงเต่าห้ำที่เป็นศัตรูธรรมชาติมาก ทำให้เกิดการเข้าใจผิด โดยทั่วไปด้วงเต่ามีลักษณะผิวของลำตัว 2 แบบ ดังนี้ 1. ชนิดที่ผิวมีลักษณะมันเป็นเงางาม ไม่มีขนละเอียดปกคลุม เป็นด้วงเต่าตัวห้ำ 2. ชนิดที่ผิวลำตัวปกคลุมด้วยขนละเอียดเล็ก ด้วงเต่าศัตรูพืชลำตัวปกคลุมไปด้วยขน ละเอียดเล็กๆ หากพบด้วงเต่าที่ลำตัวปกคลุมไปด้วยขนเล็กๆ ต้องพิจารณาว่าเป็นด้วงเต่าที่มีประโยชน์ (ด้วงเต่าตัวห้ำ) หรือด้วงเต่าศัตรูพืช
ลักษณะการทำลายแมลงศัตรูพืช
ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วงเต่าลาย กินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยกัดกินเหยื่อ และ บดกินทุกส่วนของแมลงที่เป็นเหยื่อ ทั้งส่วน ขา อก หัวหรือหนวด ส่วนหนอนที่เพิ่งฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะดูดอาหารจากเหยื่อ เมื่อหนอนโตขึ้น สามารถกัดกินและเคี้ยวเหยื่อได้ทั้งตัว ด้วงเต่าตัวห้ำกินแมลง ศัตรูพืชได้ทุกระยะ ทั้งระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
การนำไปใช้
เมื่อสำรวจพบแมลงศัตรูพืช ปล่อยด้วงเต่าลาย ตัวอ่อน หรือตัวเต็มวัย อัตรา 100 ตัวต่อไร่ ในพืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก และในไม้ผล ปล่อย 100 ตัวต่อต้น เพื่อควบคุมปริมาณให้อยู่ในระดับต่ำ หากพบ แมลงศัตรูพืชปริมาณมาก ปล่อยด้วงเต่าลาย 1,000 ตัวต่อไร่ โดยปล่อยเป็นจุดๆ ให้กระจายทั่วทั้งแปลง และ หลีกเลี่ยงการปล่อยในช่วงแสงแดดจัด และปล่อยซ้ำจนกว่าด้วงเต่าลาย จะตั้งรกรากได้ ควรงดพ่นสารป้องกัน และกำจัดแมลง