ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Asecodes hispinarum
อันดับ (Order)
Coleoptera
วงศ์ (Family)
Chrysomelidae
ความสำคัญ
แมลงดำหนามมะพร้าว เป็นแมลงศัตรูที่ทำลายยอดอ่อนและใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ ในพืชสกุลปาล์ม เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หมากและปาล์มประดับต่างๆ โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกัดกินผิวใบอ่อน เกิดเป็นรอยไหม้สีน้ำตาล ใบแห้ง ผุกร่อน โดยเฉพาะมะพร้าว ถ้าเข้าทำลายในระยะต้นกล้า ต้นมะพร้าว จะไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด หากเข้าทำลายต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่ ยอดจะเหี่ยวแห้ง ผลผลิตลดลง และไม่มีคุณภาพ แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว เป็นแตนเบียนที่ีกรมวิชาการเกษตรนำเข้ามาจาก ประเทศเวียดนาม โดยความร่วมจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อนำมาใช้ ควบคุมหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวในประเทศไทย
ลักษณะรูปร่าง
ตัวเต็มวัย: เป็นแตนเบียนขนาดเล็ก ลำตัวสีดำยาวประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร ปีกใส 2 คู่ ปล้องหนวดยาวเรียวเล็กลงไปตามปลายหนวด แตนเบียนเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ส่วนท้องใหญ่เป็นกระเปาะ ใต้ท้องมีอวัยวะวางไข่ ลักษณะเป็นเข็มยาวเรียว ซ่อนอยู่ใต้ท้อง ส่วนเพศผู้ ส่วนท้องเล็กเรียวยาว
ลักษณะการทำลายแมลงศัตรูพืช
แตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว เพศเมียที่ ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ใช้อวัยวะแทงเข้าไป วางไข่ในตัว หนอน ตัวอ่อนของแตนเบียนอาศัยเจริญเติบโตดูดกินอยู่ ภายในตัวหนอนแมลงดำหนาม หนอนที่ถูกแตนเบียนทำลาย จะตายภายใน 5 วัน มีลักษณะแห้งแข็ง เรียกว่า “มัมมี่” แตนเบียนจะเจาะออกจากตัวหนอนหลังจากถูกแตนเบียน ทำลาย 17−21 วัน และจะเข้าทำลายหนอนตัวใหม่
การนำไปใช้
วิธีการปล่อย 1. นำแตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว 5-10 มัมมี่ ใส่ในอุปกรณ์ การปล่อยที่สามารถป้องกันฝนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น มด ที่จะมาทำลายมัมมี่ 2. แขวนอุปกรณ์การปล่อยแตนเบียนไว้ที่ต้นมะพร้าวต้นเล็กหรือ ต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง หรือชายคาบ้านที่อยู่ในสวนมะพร้าวหรือข้างสวน มะพร้าวในด้านที่ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง หากเป็นไปได้ แขวนไว้ที่ต้นมะพร้าว ให้ใกล้ยอดมะพร้าวมากที่สุด และปล่อยซ้ำ หากยอดมะพร้าวยอดใหม่ ยังถูกทำลาย 3. การปล่อยแตนเบียน ปล่อย 3-5 ครั้ง อัตรา 5-10 มัมมี่ต่อไร่ ห่างกัน 7-10 วัน หากปล่อยได้มาก จะเห็นผลการควบคุมได้เร็วยิ่งขึ้น และ ปล่อยเพิ่มเติมเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันแมลงดำหนามมะพร้าวกลับมาระบาดใหม่