ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
การผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ
การผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืชปัจจุบัน มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มีบทบาทในการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งในส่วนของ กรมส่งเสริมการเกษตรมีหน่วยงานศูนย์บริหารศัตรูพืช ทั่วประเทศ จำนวน 9 ศูนย์ ที่มีบทบาทในการ ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืชและส่งเสริมให้เกษตรกร ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติใช้เอง โดยเน้นการส่งเสริมในศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ทั้งการผลิตขยาย แมลงศัตรูธรรมชาติ และเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้
การผลิตขยายแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา
การผลิตขยายแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา ประกอบ ด้วย 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การผลิตขยายผีเสื้อข้าวสารเพื่อใช้ไข่ผีเสื้อข้าวสารเป็นแมลงอาศัย และการผลิตขยายแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา
วัสดุและอุปกรณ์
1. ชั้นเลี้ยงแมลง
2. กล่องพลาสติกสี่เหลี่ยมฝาบุด้วยตะแกรงตาข่าย ด้านข้างเจาะรูสำหรับต่อท่อปล่อยตัวเต็มวัย ผีเสื้อข้าวสาร
3. กล่องพลาสติก
4. ถังพลาสติกอบรำข้าวขนาด 200 ลิตร
5. ถังพลาสติกอบปลายข้าวขนาด 200 ลิตร
6. เครื่องดูดแมลง
7. สายยาง
8. หลอดแก้วขนาดผ่าศูนย์กลาง 1 x 8 นิ้ว (test tube)
9. ปลายข้าวสาร
10. รำละเอียด
11. กล่องพลาสติกขนาดประมาณ 22 x 3 x 6 เซนติเมตร มีฝาปิดเจาะรูระบายอากาศ บุด้วยแกรงลวดตาถี่
12. สำลี
13. น้ำผึ้งเข้มข้น 30%
14. ถาดอะลูมิเนียมสำหรับอบไข่ผีเสื้อข้าวสาร
15. ตะกร้าไนล่อน
16. แปรงขนอูฐ
17. กระชอน
18. ตู้ทึบแสง
19. กระดาษทิชชู
20. หลอดไฟ UV
1. ขั้นตอนการผลิตขยายผีเสื้อข้าวสาร
1. นำหนอนและตัวเต็มวัยผีเสื้อข้าวสารที่เก็บมาจากยุ้งฉาง หรือไข่ของผีเสื้อข้าวสารจากศูนย์บริหารศัตรูพืช ทำการเลี้ยงขยายในห้องปฏิบัติการ
2. กำจัดแมลงที่ปนเปื้อนเข้ามา โดยนำรำข้าวละเอียดมาอบในตู้ควบคุมอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสเวลานานประมาณ7-8 ชั่วโมง หรืออาจจะนำห่อกระดาษที่บรรจุสารอะลูมิเนียมฟอสไฟต์ 1 เม็ด มาวางแทรกในถังบรรจุรำ ขนาด 50 กิโลกรัม ปิดฝาตั้งไว้ นาน 15 วัน นอกจากนี้จะน้ำสมุนไพรที่ใช้กำจัดแมลงศัตรูโรงเก็บผลผลิต เช่น สะเดาบดหยาย เพื่อฆ่าแมลงโรงเก็บที่ติดมากับรำ เช่น มอดข้าวสาร ด้วงงวงข้าวสาร มอดแป้ง
3. นำปลายข้าวสารชั่งน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มาผสมกับรำ 2 กิโลกรัม หรือรำข้าวอย่างเดียว จากนั้นชั่งรำ และปลายข้าวสารที่ผสมกันมาใส่กล่องเลี้ยงแมลง ควรให้มีความหนา 5-6 เซนติเมตร หรือ มีความหนาเกือบเท่าความสูงของกล่องเลี้ยงแมลง
4. โรยไข่ผีเสื้อข้าวสารให้ทั่วกล่อง จำนวน 0.1 กรัม (มีไข่ประมาณ 2,000 ฟอง) ต่อรำข้าวหนัก 1 กิโลกรัม หรือรำข้าวที่ผสมปลายข้าวสารหนัก 2 กิโลกรัม หรือเกือบเต็มภาชนะบรรจุ ปิดด้วยฝาที่เจาะรูบุด้วยลวดตาข่ายตะแกรงตาถี่ หรือผ้าตาถี่เพื่อกันแมลงเข้าไปได้ และมีอากาศผ่านได้ดี จากนั้นนำไปไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียล ความชื้นสัมพัทธ์75-80% หรือในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
5. หลังจากนั้น 4-5 วัน ไข่ของหนอนผีเสื้อข้าวสารจะฟักเป็นตัวใช้เวลาเจริญเติบโตจนเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 45-60 วัน
6. เมื่อฟักเป็นตัวเต็มวัยเริ่มนำไปที่ห้องดูดหรือตู้ เพื่อเก็บตัวเต็มวัยผีเสื้อเพศผู้และเพศเมียใส่กล่อง หรือถุงตาข่าย เก็บในที่มืดหรือห้องที่มืด เพื่อให้ผสมพันธุ์
7. เก็บไข่ทุกวัน โดยนำไข่จากถาดรองกล่องหรือถาดรองถุงที่ใส่ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมีย กรองขยะออก ด้วยการกรองผ่านกระชอนหรือตะแกรงบดข้าวตาถี่ แบ่งเป็นพ่อแม่พันธ์ุ 20 เปอร์เซ็นต์ และอีก 80 เปอร์เซ็นต์นำมาผลิตแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา หรือแตนเบียนหนอนบราคอน
2. ขั้นตอนการผลิตแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา
1. นำกระดาษสีแดงที่จะโรยไข่ผีเสื้อข้าวสาร มาตัดเป็นชิ้นขนาด กว้าง 1 นิ้ว ยาว 4นิ้ว และวัดขนาดจากปลายสุดขีดเส้นกำหนดขนาดที่จะโรยไข่ ที่มีความกว้าง 1 นิ้ว ยาว 1.5 นิ้ว
2. ทากาวน้ำบางๆ ลงบนกระดาษที่ขีดเส้นกำหนดพื้นที่จะโรยไข่ผีเสื้อข้าวสาร
3. นำไข่ผีเสื้อข้าวสารอบด้วยแสง UV (ultraviolet) นาน 15 นาที
4. นำไข่ผีเสื้อข้าวสาร 0.1 กรัม (ประมาณ 2,000 ฟอง) ใส่ตะแกรงร่อนที่มีตาถี่ จากนั้นร่อนลงบนกระดาษที่ทากาวไว้ 1 แผ่น
5. นำแผ่นกระดาษที่ติดไข่ผีเสื้อข้าวสารใส่ในหลอดทดลองหรือใส่กระปุกขนาดเล็ก จำนวน 10 แผ่น ใส่แผ่นพ่อแม่พันธุ์แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมาจำนวน 1 แผ่น
6. นำสำลีชุบน้ำผึ้งที่มีความเข้มข้น 30 เปอร์เซ็นต์
7. ตั้งไว้ประมาณ 4 − 5 วัน เพื่อให้แตนเบียนไข่ วางไข่ลงในไข่ของผีเสื้อข้าวสาร ไข่ผีเสื้อข้าวสารเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นจนดำ จากนั้นประมาณ 8-9 วัน ไข่ของแตนเบียนจะฟักเป็นตัวเต็มวัย