ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
แตนเบียนหนอนกออ้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cotesia flavipes
อันดับ (Order)
Hymenoptera
วงศ์ (Family)
Braconidae
ความสำคัญ
แตนเบียนหนอนกออ้อย ใช้ในการควบคุมหนอนกออ้อยหลายชนิดเช่น หนอนกอสีชมพู หนอนกออ้อย สีขาว หนอนกออ้อยแถบลาย และหนอนกออ้อยลายจุดใหญ่ แตนเบียนหนอนกออ้อย เป็นแตนเบียนที่มี ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และมีการนำไปใช้ควบคุมกออ้อย และหนอนกออื่นๆ อีกหลายชนิดในประเทศ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
ลักษณะรูปร่าง
ตัวเต็มวัย: เป็นแตนเบียนขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายมด มีสีดำ แผ่นปีกใสสีน้ำตาลอ่อน ส่วนหัวใหญ่ สีดำสะท้อนแสง ส่วนอกและท้องเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนปกคลุม หนวดเป็นแบบเส้นด้าย เพศเมียมีลำตัวใหญ่ กว่าเพศผู้ คือยาวประมาณ 1.7-1.9 มิลลิเมตร ส่วนท้องขยายใหญ่ เป็นกระเปาะมีอวัยวะวางไข่ยื่นยาว เห็นได้ชัดเจน ส่วนปลายหนวดสั้นกว่า (ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร) อายุ 4-5 วัน
ลักษณะการทำลายแมลงศัตรูพืช
แตนเบียนเพศเมียคลานและมุดเข้าไปในรูที่หนอนกออ้อยเจาะทำลาย เพื่อวางไข่ภายในลำตัวหนอนกออ้อย เมื่อไข่แตนเบียนฟักเป็นตัวหนอนจะเจาะดูดกินและเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวหนอนกออ้อย ทำให้หนอนกออ้อยอ่อนแอ หลังจากหนอนแตนเบียนเจริญเติบโตเต็มที่จะเจาะออกมาเข้าดักแด้ นอกตัวหนอนกออ้อย โดยจะสร้างใยหุ้มลำตัวและดักแด้จะพันกันอยู่เป็นกลุ่ม หนอนกออ้อยจะตายไปในที่สุด ซึ่งในระยะแรกดักแด้ ของแตนเบียน จะมีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อใกล้ฟัก และเมื่อแตนเบียนตัวเต็มวัยฟักออกมาจะผสมพันธุ์ และบินหาหนอนกออ้อยเพื่อวางไข่ภายในตัวหนอนกออ้อยตัวใหม่ต่อไป
การนำไปใช้
เมื่อสำรวจพบร่องรอยการทำลายของหนอนกออ้อย โดยสังเกตจากใบธงของอ้อยระยะแตกหน่อ มีอาการเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล เมื่อดึงออกมาจะพบร่องรอยการกัดกิน หรือ อ้อยระยะย่างปล้องแสดง อาการยอดเหี่ยว และลำต้นมีร่องรอยถูกเจาะเป็นรู เมื่อผ่าลำอ้อยดู หากพบหนอนกออ้อย ให้ปล่อย แตนเบียนหนอนกออ้อย ในระยะตัวเต็มวัยในอัตรา 100-500 ตัวต่อไร่ ซึ่งตัวเต็มวัยของแตนเบียนจะกิน น้ำผึ้งเป็นอาหาร และผสมพันธุ์กัน เพศเมียบินหาต้นอ้อยที่ถูกหนอนกออ้อยทำลาย โดยใช้หนวดในการ ตามกลิ่นและมุดเข้าไปในรูที่หนอนกอเจาะทำลาย เพื่อวางไข่ในตัวหนอน การใช้แตนเบียนหนอนกออ้อยในการควบคุมหนอนกออ้อยให้ได้ผลดี ควรใช้ร่วมกับแตนเบียนไข่ ไตรโคแกรมมา ซึ่งเป็นแตนเบียนที่ทำลายไข่หนอนกออ้อย และก่อนที่จะปล่อยแตนเบียนทั้ง 2 ชนิด ควรสำรวจแปลงอ้อยก่อนปลดปล่อย เพื่อให้ตรงกับระยะของหนอนกออ้อย