ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU-BCTLC)
แมลงศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite)
แตนเบียนหนอนใยผัก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diadegma semiclausum
Cotesia plutellae
อันดับ (Order)
Hymenoptera
วงศ์ (Family)
Braconidae
ความสำคัญ
แตนเบียนหนอนใยผัก เป็นศัตรูธรรมชาติสำคัญในการควบคุมหนอนใยผัก สามารถทำลาย หนอนใยผัก แตนเบียนหนอนใยผัก มีหลายชนิด เช่น แตนเบียน Diadegma semiclausum แตนเบียน Cotesia plutellae ประเทศไทย ได้ใช้แตนเบียน Diadegma semiclausum ควบคุมหนอนใยผัก ในเขตที่สูง หากอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส จะเบียนหนอนใยผักลดลง ส่วนแตนเบียน Cotesia plutellae สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศในพื้นราบได้ดีกว่าแตนเบียน Diadegma semiclausum ซึ่งแตนเบียน Cotesia plutellae สามารถเบียนหนอนใยผัก 16 ตัวต่อวัน และมีประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนใยผัก ได้ประมาณ 50% การใช้แตนเบียน ทำให้เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีควบคุมหนอนใยผักถึง 80% ในฤดูแล้ง และ 55% ในฤดูฝน
ลักษณะรูปร่าง
ดักแด้: ลักษณะคล้ายรังไหม โดยดักแด้ Cotesia pluteelae มีสีขาว ส่วนดักแด้แตนเบียน Diadegma semiclausum มีสีน้ำตาล ในสภาพแปลงผักที่ไม่ใช้สารเคมี มักพบดักแด้แตนเบียน ติดอยู่บนใบผัก
ตัวเต็มวัย: ขนาดเล็กสีดำ จะมีอวัยวะวางไข่ยื่นยาวออกมาจากท้องปล้องสุดท้าย
ลักษณะการทำลายแมลงศัตรูพืช
แตนเบียน Cotesia plutellae เพศเมียวางไข่ใน หนอนใยผักวัย 2-3 หนอนที่ถูกเบียนจะเคลื่อนไหวช้า ลำตัวซีด ลง กินอาหารน้อย โดยจะเห็นอาการชัดเจนหลังจากถูกเบียน แล้ว 3-4 วัน เมื่อหนอนแตนเบียนเจริญเติบโตเต็มที่จะเจาะผนัง ลำตัวหนอนใยผักออกมาเข้าดักแด้ข้างนอก ดักแด้แตนเบียนคล้าย รังไหมสีขาวติดอยู่บนใบพืช อยู่ใกล้ๆ ตัวหนอนใยผักที่ถูกเบียนสังเกตเห็นได้ง่าย
การนำไปใช้
ปล่อยแตนเบียนหนอนใยผักในระยะตัวเต็มวัย ประมาณ 100 ตัวต่อไร่ เมื่อสำรวจพบไข่หรือ หนอนใยผัก ที่เพิ่งฟักออกจากไข่ โดยปล่อยในช่วงเช้า หรือเย็น หรือในช่วงที่อากาศไม่ร้อนเกินไป และ ควรอนุรักษ์พืชที่ให้เกสร และน้ำหวานไว้รอบๆ แปลงผัก เพื่อเป็นแหล่งอาหารของแตนเบียน และปล่อย แตนเบียนควบคู่การใช้เชื้อบีที